วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

ศักราช

ศักราช  คือเวลาอ้างอิงเริ่มต้นที่กำหนดขึ้นในสมัยหนึ่ง โดยกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งที่สำคัญของศาสดา พระมหากษัตริย์ หรือวันเริ่มต้นของอณาจักรที่สำคัญบนโลกมนุษย์  หรือที่ไม่มีใครกล่าวถึงกันนักคือเวลาบนโลกสวรรค์   ปีดาวดึงส์ศักราชที่มีในนิยายของคุณพงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ เรื่องเทวอสูรสงคราม   ที่กล่าวไว้ว่า มีการค้นพบน้ำอมฤตที่ปีดาวดึงส์ศักราชที่ ๑๑๖๐ ซึ่งท่านสามารถไปหาอ่านได้ที่   http://www.siamintelligence.com/the-young-blood/  ซึ่งก็เป็นแค่เรื่องการกำหนดขอบเขตุเวลา   แต่ ณที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะศักราชที่มีบันทึกไว้บนโลกมนุษย์นี้เท่านั้น


๑.มหาศักราช(ม.ศ.)

มหาศักราชเกิดขึ้นในประเทศอินเดียภายหลังพุทธศักราช ๖๒๑ ปีแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยผ่านทางพวกพราหมณ์เป็นผู้นำเข้ามาพร้อมกับตำราโหราศาสตร์  ในประเทศไทยใช้มหาศักราชก่อนศักราชอื่นๆ ตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนกลางพบหลักฐานที่ใช้มากในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย

 ๒.พุทธศักราช(พ.ศ.)

พุทธศักราชเกิดขึ้นในประเทศอินเดียและแพร่หลายในประเทศที่ตนนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก การนับพุทธศักราชเริ่มตั้งแต่ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแต่มีวิธีการนับแตกต่างกันในไทยยึดหลักการนับ  พ.ศ.๑ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๑ ปี ไทยใช้พุทธศักราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาบางรัชกาลใช้พุทธศักราชร่วมกับศักราชอื่นและ ใช้แพร่หลายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๕ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓.จุลศักราช(จ.ศ.)
จุลศักราชเกิดขึ้นในประเทศพม่าภายหลังพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปีแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทย
และเริ่มใช้จุลศักราชมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและต่อมาใช้อย่างแพร่หลายในสมัยอยุธยาตอนปลายและต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พบหลักฐานที่ใช้จุลศักราช เช่น พงศาวดารกรุงศรี อยุธยา กฎหมายตราสามดวง เป็นต้น    ปัจจุบันจุลศักราชในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ยังมีใช้  ก็เห็นแต่เอกสารประเภทโหราศาสตร์ เป็นหลัก

๔.รัตนโกสินทร์ศก(ร.ศ.)
รัตนโกสินทร์ศกเป็นการนับศักราชที่ใช้เฉพาะประเทศไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๒ โดยเริ่มนับร.ศ.๑เมื่อปีพ.ศ.๒๓๒๕ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ไทยเริ่มใช้การนับแบบร.ศ. ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนไปใช้การนับพุทธศักราชจนถึงปัจจุบัน หลักฐานที่ใช้รัตนโกสินทร์ศก เช่น พระราชหัตเลขารัชกาลที่ ๕ และจดหมายพระราชกรณียกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๕.คริสต์ศักราช (ค.ศ.)
เริ่มนับศักราชที่ ๑ โดยนับเมื่อพระเยชูศาสนาของศาสนาคริสต์ประสูติหลังพุทธศักราช ๕๔๓ ปีเป็นศักราชที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกอันเนื่องมาจากประเทศมหาอำนาจ
เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศสใช้คริสต์ศักราชเมื่อเข้าไปจับจองอาณานิคมจึงนำคริสต์ศักราชเข้า ไปดินแดนนั้นด้วยหลักฐานที่ปรากฏ เช่น หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษ
แล ประเทศสยาม คริสต์ศักราช ๑๘๒๖  และหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอเมริกา แล ประเทศสยาม คริสต์ศักราช ๑๘๓๓ เป็นต้น

๖.ฮิจเราะห์ศักราช(ฮ.ศ.)
เป็นการนับศักราชที่ประเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มนับฮิจเราะห์ศักราชที่ ๑ในปีที่ท่านนบีมูฮำมัดพร้อมกับสาวกอพยพจากเมืองเมกกะไปอยู่ที่เมืองเมดินะ ฮิจเราะห์ศักราช
มีเคาะลีฟฮ์ โอมาร์ หรือกาหลิบ โอมาร์ เป็นผู้ก่อตั้ง ชาวมุสลิมทั่วโลกใช้ฮิจเราะห์ศักราชในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตน


หลักเกณฑ์การเทียบศักราช
๑. มหาศักราช (ม.ศ.) =  พ.ศ. – ๖๒๑
๒.จุลศักราช (จศ.)  = พ.ศ. – ๑๑๘๑
๓.รัตนโกสินทร์ศักราช (รศ. )=  พ.ศ. – ๒๓๒๔
๔.คริสต์ศักราช (คศ.)= พ.ศ. – ๕๔๓
๕.บฮิจเราะห์ศักราช (ฮศ. )  พ.ศ. – ๖๒๑ 

วิธีหาปีนักษัตร จากปี พศ.
ให้เอาปี พ.ศ. ที่จะหานั้น  หารด้วย 12 ได้เศษจากการหารเท่าไร ดูตามเศษได้ดังนี้
เศษ 0 หารลงตัว    ปีนี้เป็นปีมะเส็ง ปีงูเล็ก
เศษ 1    ปีนี้เป็นปีมะเมีย ปีม้า
เศษ 2    ปีนี้เเป็นปีมะแม ปีแพะ
เศษ 3    ปีนี้เป็นปีวอก ปีลิง
เศษ 4    ปีนี้เป็นปีระกา ปีไก่
เศษ 5    ปีนี้เป็นปีจอ ปีหมา
เศษ 6    ปีนี้เป็นปีกุน ปีหมู
เศษ 7    ปีนี้เป็นปีชวด ปีหนู
เศษ 8    ปีนี้เป็นปีฉลู ปีวัว
เศษ 9    ปีนี้เป็นปีขาล ปีเสือ
เศษ 10  ปีนี้เป็นปีเถาะ ปีกระต่าย
เศษ 11  ปีนี้เป็นปีมะโรง ปีงูใหญ่

------------------------------------------------
ตำนานศักราชเก่าแก่แบบอื่น ที่น่าสนใจ 
(ลอกมาจากเวปไซด์ไหน ไม่รู้แล้วกลับไปหาไม่เจอ)

แต่ละอารยธรรมต่างมีการกำหนดนับวันเวลาที่ต่างกัน  ในแถบเอเชียมีวิธีกำหนดนับวันเวลาหลายแบบ  รูปแบบของวันเวลาที่นิยมใช้กันตั้งแต่ดั่งเดิมได้แก่

๑.  ศักราชโลกกาลหรือสัปตฤกษ์กาล  เป็นการกำหนดวันเวลาของชาวอินเดีย  ใช้ในเมืองตักกสิลา (แคชเมียร์)   เรียกว่าสัปตฤกษ์กาลหรือศักราชโลกกาล  กำหนดวันเวลาจากการโคจรของดวงอาทิยย์และหมู่ดาวเคราะห์ผ่าน ๒๗ ดาวฤกษ์  ตั้งแต่อัศวิณีฤกษ์  ถึงเรวตีฤกษ์  โดยกำหนดระยะ ๑๐๐ ปีเป็น ๑ ฤกษ์  เมื่อครบ 27 ฤกษ์จะเท่ากับ ๒๗๐๐ ปี  เป็นหนึ่งรอบแห่งศักราช  ศักราชโกลกาลนี้ตั้งขึ้นก่อนพุทธศักราช ๖๒๓๔ ปีและใช้มาได้ ๓ รอบกับอีก ๑๗๘๓ ปี (๙๘๘๓)  จึงเลิกใช้

๒.  ปีพฤหัสบดีจักร์  ตั้งขึ้นเมื่อศักราชโลกกาลล่วงมาแล้ว ๓ รอบกับอีก ๑๗๘๓ ปี  กำหนดวันเวลาจากการโคจรของดาวพฤหัสบดี ๑ ราศีเป็น ๑ ปี  เมื่อดาวพฤหัสบดีโคจรครบรอบ ๑๒ ราศี ๕ ครั้งรวมเวลา ๖๐ ปี  เป็นหนึ่งรอบพฤหัสบดีจักร์  โดยกำหนดเอาปีที่ดาวพฤหัสบดีโคจรเข้าราศีมีน (ปีเถาะ)   เป็นปีต้นรอบแห่งพฤหัสบดีจักร์

ปีพฤหัสบดีจักร์นิยมใช้กันมากในประเทศอินเดีย  ธิเบต  จีน ไทย  ลาว  เป็นต้น  ปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นในรูปแบบปีสิบสองนักษัตร์  โดยไทยนับแต่ชวดเป็นปีต้นรอบแห่งพฤหัสบดีจักร์  ไทยเหนือนับแต่กุนเป็นปีต้นรอบแห่งพฤหัสบดีจักร์

๓.  กลียุคศักราช  เมื่อปีพฤหัสบดีจักร์ล่วงมาแล้วได้ ๒๗ – ๒๘ ปีได้มีวิธีกำหนดนับวันเวลาขึ้นใหม่  เรียกว่ากลียุคศักราช  เพื่อใช้สำหรับคำนวณปฏิทินโหราศาสตร์  เริ่มตั้งขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕  ก่อนพุทธศักราช ๒๕๕๘ ปี หรือวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์  ก่อนคริสตศักราช ๓๑๐๑ ปี

โดยยึดถือเอาวิถีการโคจรของโลก  ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  จากการสังเกตุเห็นว่าโลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ในสิบรอบแห่งปีนักษัตร์ (๑๒๐ ปี)ต่อ ๑ ลิปดา  หรือ ๗,๒๐๐ ปีต่อ ๑ องศา  ทำให้ระยะเวลาในระหว่างที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษเร็วขึ้นทุกๆ ปี  ความคลาดเคลื่อนของระยะเวลาดังกล่าวเริ่มมีตั้งแต่องศาที่ ๙๐ ถึงองศาที่ ๓๖๐ ของโลก  จึงมีการแบ่งช่วงเวลาตั้งแต่องศาที่ ๙๐ ถึงองศาที่ ๓๖๐ เป็น ๔ ส่วน  กำหนดเรียกเป็น ๔ ยุค  นับตั้งแต่ยุคที่สี่ถึงยุคที่หนึ่งมีชื่อตามลำดับว่า  จัตยายุค  ไตรดายุค  ทวาปรยุค  กลียุค  แบ่งเป็นระยะเวลาแต่ละยุคดังนี้


                จัตยายุค                  ๑,๗๒๘,๐๐๐  ปี

                ไตรดายุค                ๑,๒๙๖,๐๐๐  ปี

                ทวาปรยุค                  ๘๖๔,๐๐๐  ปี

                กลียุค                         ๔๓๒,๐๐๐  ปี

                รวมเป็นมหายุค      ๔,๓๒๐,๐๐๐  ปี

ในสมัยของกลียุค  เมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ  เป็นวันขึ้นปีใหม่หรือวันมหาสงกรานต์  แต่ในยุคก่อนๆเช่นสมัยทวาปรยุคซึ่งนับถอยจากนี้ไปประมาณ ๖,๐๐๐ ปี  วันมหาสงกรานต์  คือวันที่ดวงอาทิตย์ยกเข้าราศีพฤษภ

จากการที่โลกโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์  เมื่อเข้าใกล้ในระยะหนึ่ง  ไฟจะไหม้โลก  เรียกว่าไฟประลัยกัลป์  หมายถึงหมดภัทรกัป  อันมีจำนวน ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี  โดยมีสูตรคำนวณว่า ๑,๐๐๐ มหายุคเป็น ๑ ภัทรกัป  ปัจจุบันเป็นมหายุคที่ ๒๗ ย่างเข้ามหายุกที่ ๒๘  นับอายุในภัทรกัปล่วงมาได้ ๑๑๖,๖๔๐,๐๐๐ ปี  และนับตั้งแต่ต้นมหายุคจนถึงกลียุยอีก ๓,๘๘๘,๐๐๐ ปี  รวมเป็น ๑๕๕,๕๒๐,๐๐๐ ปี  ยังเหลือเวลานับตั้งแต่ต้นกลียุคไปอีก ๔,๑๖๔,๔๘๐,๐๐๐ ปี  จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์  กลียุคศักราชนี้ปัจจุบันยังมีนักบวชบางนิกายนิกายใช้เป็นเกณฑ์คำนวณปฏิทินอยู่

อัญชันศักราช  เมื่อกลียุคศักราชล่วงมาแล้วได้ ๒๔๑๑ ในปีเถาะ  ที่กรุงเทวทหะมีกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอัญชนะ  มีพระขนิษฐาพระองค์หนึ่งเป็นพระมเหสีพระเจ้าสีหหนุแห่งกรุงกบิลพัสดุ์  ส่วนพระองค์ได้พระขนิษฐาของพระเจ้าสีหหนุมาเป็นพระมเหสี  ที่กรุงราชคฤห์มีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าพาทิยะ  กษัตริย์ทั้งสามนครสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ามหาสมมติตั้งแต่ครั้งปฐมกัลป์และเป็นพระสหายกัน  พระเจ้าอัญชนะนั้นมีพระอนุชาพระองค์หนึ่งถือเพศเป็นดาบส พระนามว่า กาลเทวิลดาบส  ครั้งนั้นกาลเทวิลดาบส ได้ชักชวนให้กษัตริย์ทั้งสามนครลบศักราชเก่าเสียแล้วตั้งศักราชของตนเองขึ้นมาใช้ใหม่เรียกว่า อัญชันศักราช แต่ในบางแห่งก็เรียกว่าศักราชของพระเจ้าสีหหนุ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงให้โหรคำนวณดวงพระราชชะตาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่ทราบกันว่าพระพุทธเจ้าประสูติเมื่อปีจออัฐศก ศักราช ๖๘  ตรัสรู้เมื่อปีระกาตรีศก ศักราช ๑๐๓  และนิพพานเมื่อปีมะเส็งสัปตศก  ศักราช ๑๔๗  นั้นคืออัณชันศักราชนี้



3 ความคิดเห็น:

  1. ปีประสูติ คือวันขึ้น15คำ่ เดือน6 ปีอัญชัน 68 แล้วปีปรินิพพานคือ ขึ้น15คำ่เดือน6 ปีอัญชัน 147 พระชนมายุของพระพุทธเจ้าก็จะคำนวณได้เพียง 79ปี เอง ปีอัญชันน่าจะเป็น 148 มากกว่า

    ตอบลบ
  2. ปีประสูติ คือวันขึ้น15คำ่ เดือน6 ปีอัญชัน 68 แล้วปีปรินิพพานคือ ขึ้น15คำ่เดือน6 ปีอัญชัน 147 พระชนมายุของพระพุทธเจ้าก็จะคำนวณได้เพียง 79ปี เอง ปีอัญชันน่าจะเป็น 148 มากกว่า

    ตอบลบ