วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แนวปะทะอากาศ

แนวอากาศ (Air Front) หรือแนวปะทะของมวลอากาศ  ที่เห็นได้ง่ายคือแนวปะทะอากาศอุ่นจากลมตะวันตก จะเห็นเป็นฝ้าขาวบางๆ เคลื่อนจากตะวันตกไปตะวันออก  ยางครั้งก็อาจไม่เห็น บางครั้งก็ค่อยลงมาเป็นเมฆหนาขึ้น  เห็นวันแรกฝนไม่ค่อยตก  ส่วนแนวปะทะอากาศเย็นมักจะมาพร้อมฝน ยิ่งเป็นช่วงกลางวันจะพบฝนตกรุนแรงบ่อย  ที่ผมสังเกตุ ด้วยตัวเอง  แนวปะทะอากาศเย็นแบบไม่รุนแรงมักเกิดช่วงหัวรุ่ง

แนวปะทะอากาศเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ข้อเขียนข้างล่างลอกมาครับ  ยังไม่ได้เขียนเพิ่มเติม เก็บไว้ดูเพื่อความสะดวกเท่านั้น

แนวอากาศ หรือ แนวปะทะมวลอากาศ เกิดจากสภาวะที่อากาศที่แตกต่างกันมาก โดยมีอุณหภูมิและความชื้นต่างกันมากมาพบกัน จะไม่ผสมกลมกลืนกันแต่จะแยกจากกัน โดยที่ส่วนหน้าของมวลอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะของมวลอากาศที่อุ่นกว่าจะถูกดันตัวให้ลอยไปอยู่เหนือลิ่มมวลอากาศเย็น

แนวปะทะอากาศจากแผนที่อากาศผิวพื้นกรมอุตุฯ 

เนื่องจากมวลอากาศอุ่นมีความหนาแน่นน้อยกว่ามวลอากาศเย็น แนวที่แยกมวลอากาศทั้งสองออกจากกันเราเรียกว่า แนวอากาศ โดยทั่วไปแล้วตามแนวอากาศหรือแนวปะทะอากาศจะมีลักษณะของความแปรปรวนลมฟ้าอากาศเกิดขึ้น

เราสามารถจำแนกแนวอากาศหรือแนวปะทะอากาศของมวลอากาศได้ 4 ชนิด ได้แก่

แนวปะทะของมวลอากาศอุ่น (Warm Front) เกิดจากการที่มวลอากาศอุ่นเคลื่อนที่เข้ามายังบริเวณที่มีมวลอากาศเย็นกว่า โดยมวลอากาศเย็นจะยังคงตัวบริเวณพื้นดิน มวลอากาศอุ่นจะลอยตัวสูงขึ้น ซึ่งแนวของอากาศอุ่นจะมีความลาดชันน้อยกว่าแนวอากาศเย็น ซึ่งจากปรากฏการณ์แนวปะทะมวลอากาศอุ่นดังกล่าวนี้ลักษณะอากาศจะอยู่ในสภาวะทรงตัว แต่ถ้าลักษณะของมวลอากาศอุ่นมีการลอยตัวขึ้นในแนวดิ่ง (มีความลาดชันมาก) จะก่อให้เกิดฝนตกหนักและพายุฝนฟ้าคะนอง สังเกตได้จากการเกิดเมฆฝนเมฆนิมโบสเตรตัส หรือการเกิดฝนซู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าฝนไล่ช้าง


แนวปะทะของมวลอากาศเย็น (Cold Front) เมื่อมวลอากาศเย็นเคลื่อนตัวลงมายังบริเวณที่มีละติจูดต่ำ มวลอากาศเย็นจะหนัก จึงมีการเคลื่อนตัวติดกับผิวดิน และจะดันให้มวลอากาศอุ่นที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า ลอยตัวขึ้นตามความลาดเอียง ซึ่งมีความลาดชันมากถึง 1:80 ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวตามแนวปะทะอากาศเย็นจะมีสภาพอากาศแปรปรวนมาก มวลอากาศร้อนถูกดันให้ลอยตัวยกสูงขึ้น เป็นลักษณะการก่อตัวของเมฆ คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ท้องฟ้าจะมืดครึม เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง เราเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “แนวพายุฝน” (Squall Line)





แนวปะทะมวลอากาศไม่เคลื่อนตัว (Stationary Front) นอกจากแนวปะทะอากาศดังกล่าวมาแล้วนั้นจะมีลักษณะแนวปะทะอากาศของมวลอากาศคงที่อีกชนิดหนึ่ง (Stationary Front) ซึ่งเป็นแนวปะทะของมวลอากาศที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของมวลอากาศอุ่นและมวลอากาศเย็นเข้าหากัน และจากสภาพที่ทั้งสองมวลอากาศมีแรงผลักดันเท่ากัน จึงเกิดภาวะสมดุลของแนวปะทะอากาศขึ้น แต่จะเกิดในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อมวลอากาศใดมีแรงผลักดันมากขึ้นจะทำให้ลักษณะของแนวปะทะอากาศเปลี่ยนไปเป็นแนวปะทะอากาศแบบอื่น ๆ ทันที




แนวปะทะของมวลอากาศรวม (Occluded Front) เมื่อมวลอากาศเย็นเคลื่อนที่ในแนวทางติดกับแผ่นดิน จะดันให้มวลอากาศอุ่นใกล้กับผิวโลกเคลื่อนที่ไปในแนวเดียวกันกับมวลอากาศเย็น มวลอากาศอุ่นจะถูกมวลอากาศเย็นซ้อนตัวให้ลอยสูงขึ้น และเนื่องจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนตัวได้เร็วกว่าจึงทำให้มวลอากาศอุ่นช้อนอยู่บนมวลอากาศเย็น เราเรียกลักษณะดังกล่าวได้อีกแบบว่าแนวปะทะของมวลอากาศปิด ลักษณะของปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) และทำให้เกิดฝนตก หรือพายุฝนได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น